ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (อังกฤษ: democratic form of government with the King as Head of State[1]) เป็นชื่อเรียกระบอบการปกครองในประเทศไทย ที่รวมเอาทั้งรูปแบบการปกครอง (อังกฤษ: form of government) ประเภทประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา (อังกฤษ: parliamentary democracy) กับรูปแบบรัฐ (อังกฤษ: form of state) ประเภทการปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (อังกฤษ: constitutional monarchy[2]) ไว้ในคำเดียวกัน
สำหรับที่มาของวลีที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นั้น เพิ่งจะมีขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492[3] โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ความว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ถูกร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพลังอนุรักษนิยม ซึ่งขณะนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนทางการเมืองที่สำคัญ แต่การปรากฏขึ้นครั้งแรกนี้ ยังไม่ได้ยืนยันความเป็นชื่อเฉพาะของระบอบการปกครองแต่อย่างใด [4] หากแต่การปรากฏขึ้นซ้ำในภายหลัง คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2519 เป็นสองฉบับแรกที่ยืนยันความชอบธรรมของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"[4]สมศักดิ์ได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า หน้าที่ (function) ของการยืนยันในสองฉบับมีความต่างกัน โดยฉบับ พ.ศ. 2511 เพื่อต่อต้านการเมืองและพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้น และฉบับ พ.ศ. 2519 เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้าย[4]
ภายในระบอบการปกครองเช่นนี้ของประเทศไทย แตกต่างไปจากธรรมเนียมการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่จะมี อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแต่ในทางพิธีการ ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองเกินกว่าที่เป็นในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศอื่น เช่น ทรงสามารถแสดงพระราชดำรัสสด, บริหารงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[5] และแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งต่างๆ เช่น องคมนตรี โดยไม่มีผู้สนองบรมราชโองการ [6]
สำหรับกรณีของประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น Penny Junor นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือของเธอว่า [7]
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... มีพระมหากษัตริย์และพระราชินีปกครองแผ่นดิน. […] หนึ่งร้อยยี่สิบปีต่อมา, ภายหลังการเปลี่ยนแปลงหลายประการ (และช่วงเวลาสั้นๆ ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งปราศจากกษัตริย์) พวกเรามีพระราชินีผู้ไร้ซึ่งอำนาจในการบริหาร, ผู้ซึ่งกระทำการต่างๆ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี, ผู้ซึ่งอ่านพระราชดำรัสซึ่งผู้อื่นเป็นคนร่างขึ้น. […] | ||
— Penny Junor |
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการเป็นประมุขในทางพิธีการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ก็คือ เป็นพิธีการที่ทรงบริหารอำนาจอธิปไตยแทนปวงชนโดยแบ่งแยกอำนาจนั้นเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังสภานิติบัญญัติที่เรียก "รัฐสภา" ฝ่ายบริหาร อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังกลุ่มผู้บริหารสูงสุดที่เรียก "คณะรัฐมนตรี" และฝ่ายตุลาการ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังศาลทั้งหลาย ซึ่งมีสามประเภท คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงแล้ว องค์กรเหล่านั้นเป็นปวงชนหรือผู้แทนของปวงชนที่บริหารอำนาจด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ของปวงชนและโดยการควบคุมของปวงชน ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นแต่เชิดให้กิจการดำเนินไปด้วยดีตามพระราชภารกิจทางพิธีการที่รัฐธรรมนูญมอบให้เท่านั้น[8]
สำหรับพระมหากษัตริย์นั้น ตามรัฐธรรมนูญแล้ว มีพระราชสถานะที่ได้รับการเคารพสักการะ (อังกฤษ: revered worship) และไม่อาจทรงถูกละเมิดได้ (อังกฤษ: inviolable) กับทั้งผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้เลย ตามหลักที่ว่า "พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงทำผิด เพราะพระมหากษัตริย์ไม่อาจทำอะไรได้เลย" (อังกฤษ: the King can do no wrong, for the King can do nothing) หรือหลักที่ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ทรงปกครอง" (อังกฤษ: reign but not rule) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการลงนามสนองพระบรมราชโองการทุกครั้งไป โดยรัฐบาล หรือรัฐสภาเพื่อ "อนุมัติ" ให้พระมหากษัตริย์ทรงกระทำได้ผ่านสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ มิใช่โดย"พระองค์เอง" การละเมิดหลักการสำคัญนี้ ถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
การกระทำดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ถือว่าไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมของการปกครองระบอบประชาธิปไตย[9][10] ได้แก่ การพระราชทานพระราชดำรัสสด โดยไม่มีการลงนามสนองพระบรมราชโองการในร่างพระราชดำรัส เช่น การแสดงพระราชดำรัสสดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2499 เนื่องในวันกองทัพไทย ใจความตอนหนึ่งว่า “ให้ทหารรู้จักหน้าที่ในความเป็นทหาร ทหารไม่บังควรเล่นการเมือง” และมีผู้มองว่าเป็นพระราชวิจารณ์ต่อคณะรัฐบาลในขณะนั้น คือรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม[11] รวมถึงการแต่งตั้งตำแหน่งใดๆ โดยพระองค์เอง เช่นการแต่งตั้งองคมนตรี[6] และคณะกรรมการบริหารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [5] ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากพระราชดำรัสสดข้างต้นนั้น คือ พระบรมราชโองการการแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้เป็นผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารในการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2500 ที่มีพระบรมราชโองการโดยไม่มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ [12] ทั้งนี้ การประกาศพระบรมราชโองการดังกล่าว ถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 มาตรา 94 ความว่า "ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗ มาตรา ๖๑ และมาตรา ๘๑ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" ซึ่งในขณะนั้นคณะรัฐประหารของสฤษดิ์ ยังมิได้ยกเลิกไปด้วย เพราะคณะรัฐประหารได้ออกประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 [13] ในขณะที่พระบรมราชโองการแต่งตั้งสฤษดิ์เป็นผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 หรือสองวันก่อนหน้านั้น ซึ่งแสดงว่า ความผิดได้สำเร็จขึ้นแล้ว และการประกาศของคณะรัฐประหาร ย่อมไม่มีผลย้อนหลังทางกฎหมาย
ซึ่งสำหรับการอธิบายการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดธรรมเนียมนั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "รัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีประมุขเป็นกษัตริย์ มีบทบัญญัติกำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงการลงพระปรมาภิไธยและการสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องอยู่คู่กันตลอด หากการกระทำใดมีการลงพระปรมาภิไธยโดยปราศจากการสนองพระบรมราชโองการ การกระทำนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกัน หากการกระทำใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการลงพระปรมาภิไธยแล้วไม่มีการลงพระปรมาภิไธย การกระทำนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน เว้นเสียแต่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (เช่น การประกาศให้กฎหมายมีผลใช้ทันทีในกรณีที่กษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธย)" โดยยกตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศเบลเยียม และประเทศญี่ปุ่น ความว่า[9]
ในเบลเยียม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๘ กำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิด” โดยมาตรา ๑๐๒ ขยายความต่อไปว่า “ไม่มีกรณีใดที่พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาจะหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบของรัฐมนตรี” และมาตรา ๑๐๖ “ไม่มีการกระทำใดของกษัตริย์จะมีผล หากปราศจากการลงนามสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ” | ||
— ปิยบุตร แสงกนกกุล |
นอกจากนั้น ยังทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งแต่ทางพิธีการ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก (อังกฤษ: Defender of all Faiths) ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น