วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง

การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
ปัจจุบัน เกษตรกรที่มีอาชีพในการทำสวน เช่น ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  ไม้ผลต่าง ๆ ไม้ดอก ไม้ประดับและพืชผัก มีความต้องการที่จะเพิ่มผลผลิต ให้สูงขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งในการที่จะเพิ่มผลผลิต
   นอก จากเกษตรกรจะใช้พืชพันธุ์ที่ดีแล้ว การดูแลบำรุงรักษา ก็ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีที่ดีด้วย จากปัญหาปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาดมีราคาแพง เกษตรกรจึงควรที่จะลดต้นทุนการผลิตโดยการผสมปุ๋ยเคมีขึ้นใช้เอง เพื่อให้เกิดผลกำไรมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจได้ว่าปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรผสมขึ้นมาเอง มีคุณภาพและปริมาณธาตุอาหารตรงตามที่ต้องการ และไม่ปลอมแน่นอน

   ปุ๋ยผสม หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารอยู่ตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไป โดยการนำอาแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยมีธาตุอาหารตรงตามเกรดหรือสูตรที่เกษตรกรต้องการ
   แม่ปุ๋ย หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่นำมาใช้ในการทำปุ๋ยผสม โดยแม่ปุ๋ยเคมีอาจเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยวหรือปุ๋ยเคมีที่ใช้ธาตุอาหารรับรองแก่ พืชเพียงธาตุเดียว หรือ 2 ธาตุ คือ ไนโตรเจนฟอสฟอรัส และโปตัสเซี่ยม
ชนิดของแม่ปุ๋ยเคมีที่ให้ปริมาณธาตุอาหารรับรอง
   - ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ได้แก่ แอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) แอมโมเนียคลอไรด์ (25-0-0) แอมโมเนียมไนเตรท(34-0-0) ยูเรีย (46-0-0)
   - ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) ได้แก่ ร๊อคฟอสเฟต (0-3-0) ซูเปอร์ฟอสเฟต (0-20-0) ดับเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-40-0) ทริปเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0)
   - ธาตุอาหารโปตัสเซี่ยม (K) ได้แก่ โปตัสเซี่ยมซัลเฟต (0-0-50) โปตัสเซี่ยมคลอไรด์ (0-0-60)
   - ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) และฟอสฟอรัส (P) ได้แก่ ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (18-46-0) โมโนแอมโมเนียฟอสเฟต (11-52-0)
   - ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) และโปตัสเซี่ยม (K) ได้แก่ โปตัสเซี่ยมไนเตรท (13-0-46)

วิธีการผสมปุ๋ยเคมีเมื่อ เกษตรกรทราบแล้วว่าจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีชนิดใด และน้ำหนักสุทธิที่จะใช้เท่าใดแล้ว ก็นำมาผสมกัน เกษตรกรควรรู้วิธีผสมและวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต้องใช้คือ
   1. ควรผสมบนพื้นปูนซิเมนต์ที่แห้ง หรือบนพื้นดินที่เรียบมีผ้าใบรองพื้น
   2. ควรผสมไม่เกินครั้งละ 200 กิโลกรัม เพราะจะทำให้ปุ๋ยผสมคลุกเคล้าไม่ทั่วถึง
   3. อุปกรณ์ที่ใช้ในการผสมควรแห้ง เช่น จอบ พลั่ว หากต้องการปริมาณมากควรใช้เครื่องปูนซีเมนต์ หรือเครื่องผสมอาหารสัตว์ขนาดเล็กที่ได้
   4. ให้เทแม่ปุ๋ยที่จะผสมจำนวนมากให้อยู่ด้านล่าง ส่วนปริมาณน้อยให้ไว้ชั้นบนขึ้นมาตามลำดับ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำไปใช้ทันที

การเก็บรักษา
   1. เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีไม่หมดให้เก็บไว้ในกระสอบพลาสติกสานชั้นนอก โดยชั้นในมีถุงพลาสติกใสเรียบร้อยหรือมัดปากถึงชั้นในและนอกให้แน่นสนิท
   2. ควรเก็บไว้ในที่ร่ม และแห้ง ไม่โดนแสงแดดและฝน
   3. หากวางบนพื้นปูนซีเมนต์ควรมีไม้รองรับ

ตัวอย่างการคำนวณปุ๋ยผสม
    ถ้าหากต้องการปุ่ยผสมสูตร 20-8-20  โดยใช้แม่ปุ๋ย 3 ตัว ดังกล่าว
    วิธีการคำนวณ
       คำนวณหา % ฟอสฟอรัส ก่อน
        8 % ฟอสฟอรัส ใช้แม่ปุ๋ยไดแอมฯ    = 8 x 100    =  17.4  กก.
                                                              46
      แม่ปุ๋ยไดแอมฯ  17.4 กก. มีไนโตรเจนติดมาด้วย     = 18 x 17.4  =  3.1 กก.
                                                                                100
ดัง นั้น นำไนโตรเจน 3.1 กก. ไปหักออกจากไนโตรเจน 20 % จากสูตรที่ต้องการผสม ไนโตรเจนยังขาดอีก 16.9 กก. (20-3.1=16.9 กก.) เอาไปคำนวณหาจากแม่ปุ๋ยยูเรีย
                   ต้องการไนโตรเจน 16.9 กก. ใช้ยูเรีย      16.9 x 100  = 36.7 กก.
                                                                               46
และต้องการโพแทสเซี่ยม 20 % ใช้โพแทสเซี่ยมคลอไรด์  20 x 100     = 33.3 กก.
                                                                                  60
ดัง นั้น เพื่อให้ได้ปุ๋ยผสมที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน 20 กก. ฟอสฟอรัส  8  กก. และโพแทสเซี่ยม 20 กก. หรือสูตร 20-8-20 จะต้องใช้แม่ปุ๋ย 
                            
    - ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต      17.4  กก.
                                - ปุ๋ยยูเรีย                               36.7  กก.
                                - ปุ๋ยโพแทสเซี่ยมคลอไรด์      =   33.3  กก.
                                รวมน้ำหนักปุ๋ยผสม                   87.4  กก.
       เนื่อง จากน้ำหนักปุ๋ยที่ผสมได้ไม่ครบ 100 กก. แสดงว่าปุ๋ยผสมที่ได้ มีสูตรสูงกว่าที่กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อนำปุ๋ยผสมนี้ไปใช้ก็ต้องลดอัตราปุ๋ยที่ควรจะใช้โดยวิธีคำนวณ เช่น  ถ้าใช้ปุ๋ยสูตร 20-8-20 ต้นยางอายุ 15 เดือน ที่ปลูกในเขตปลูกยางเดิมเป็นดินร่วน ใช้อัตรา 150 กรัม/ต้น แต่เมื่อใช้ปุ๋ยผสมเองจะต้องใส่เพียง 130 กรัม/ต้น เท่านั้น
                   การคำนวณ  น้ำหนักปุ๋ย  100 กก. ใช้อัตรา   =  150  กรัม
                                  น้ำหนักปุ่ย  87.4 กก. ใช้อัตรา   = 150 x 87.4  =   131.10     กรัม/ต้น
                                                                                   100
                                                                       หรือประมาณ  130  กรัม/ต้น

    ดาวน์โหลด โปรแกรมคำนวณปุ๋ยผสม สูตรต่าง
ตารางสำเร็จรูปสำหรับผสมปุ๋ยเคมีไว้ใช้เอง
 http://web.ku.ac.th/agri/fertilizer/table.htm
  
อุปกรณ์

เครื่องชั่งขนาด 25-50 กก., พลั่วหรือจอบ, ถังและขันพลาสติค, แม่ปุ๋ย

ขั้นตอนการผสมปุ๋ย
            เลือกสูตรและอัตราการใช้กับพืชจากคำแนะนำ คำนวณหาปริมาณ และชั่ง แม่ปุ๋ยแต่ละชนิดจากตาราง นำแม่ปุ๋ยที่ชั่งได้เทลงบนพื้นเรียบและแห้ง ใช้จอบ, พลั่ว ผสมคลุกเคล้าปุ๋ยในกองให้เข้ากัน นำบรรจุกระสอบเพื่อขนย้ายไปไร่นา การหว่านหรือใส่ต้องใส่ปริมาณน้อยกว่าเดิมเพราะไม่มีสารตัวเติม
ข้อดี
  • ตัดปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอม/ปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน
  • ใช้ปุ๋ยราคายุติธรรม มีทางเลือกเพิ่มขึ้น
  • สูญเสียน้อยกว่า เพราะลงทุนถูกกว่า
  • ถ้าชำนาญสามารถปรับสูตรได้
  • มีอำนาจในการต่อรองราคา
  • มีปุ๋ยใช้ทันเวลา
ข้อจำกัด
  • เสียเวลาผสม (10 กระสอบ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที)
  • ผสมแล้วควรใช้ให้หมดใน 30 วัน
  • แม่ปุ๋ยมีขายไม่ครบทั้ง 3 ชนิด
  • แหล่งขายแม่ปุ๋ยมีน้อย
  • ต้องอ่านเข้าใจจึงทำได้
  • ต้องมีตารางผสมปุ๋ย
........................................................................................................................
เพิ่มเติม
ปุ๋ยยางพาราก่อนเปิดกรีด
-
เขตปลูกยางเดิม ใช้สูตร 20-8-20
- เขตปลูกยางใหม่ ใช้สูตร 20-10-12


ปุ๋ยยางพาราหลังเปิดกรีด
-
ทุกเขตปลูกยาง ใช้สูตร 30-5-18
- เขตปลูกยางเดิม และเขตปลูกยางใหม่ ใส่ปุ๋ยครั้งละ 500 กรัมต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่ต้นฤดูฝน หลังยางผลัดใบในขณะที่ยังเป็นใบเพส ครั้งที่สอง ใส่ก่อนใบยางจะแก่


การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
-
แม่ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้ เป็นแม่ปุ๋ยที่สะดวกในการจัดซื้อและราคาถูก ได้แก่ DAP (18-46-0) MOP (0-0-60) และ ยูเรีย (46-0-0)

ตัวอย่างการผสมปุ๋ยสูตรต่าง ฯ ใช้เอง จำนวน 100 กิโลกรัม จากแม่ปุ๋ยทั้ง 3 ชนิด

สูตรปุ๋ย
DAP (18-46-0)
MOP (0-0-60)
UREA (46-0-0)
20-8-20
18
34
38
20-10-12
22
20
36
30-5-18
10
30
60
ปุ๋ยผสมใช้เองไม่แนะนำให้ใช้สารตัวเติม




 

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สวัสดีปีใหม่ 2556 Happy New Year 2013






ท่านคิดสิ่งใด ขอให้สมปรารถนาทุกประการ
จากสวนผักหวานพันธุ์ยาง 

 

โรคและศัตรูพืชที่สำคัญของยางพารา

ยางพารา

สถาบันวิจัยยาง
โรคและศัตรูพืชที่สำคัญของยางพารา
โรคตายยอด ( Die Back )
สาเหตุการเกิดโรค
  • เกิดจากเชื้อรา
  • เกิดจากปลูกในพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโต เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร มีน้อยหรือมากเกินไป หรือมีสารพิษตกค้างในดิน หรือ ปลูกในสภาพที่เหมาะสมแก่การเกิดโรค
ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
กิ่งก้านหรือยอด แห้งตายจากปลายกิ่งหรือยอดเข้าหาส่วนโคนทีละน้อย แล้วลุกลามไปจนถึงโคนต้น ในที่สุดต้นยางจะยืนต้นตาย ถ้าอาการรุนแรงต้นยางจะแห้งตายตลอดทั้งต้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มีเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราสีดำหรือสีขาวเกิดขึ้นบริเวณเปลือกด้านใน นอกจากนี้ มีแบคทีเรียและไส้เดือนฝอยอาศัยอยู่ทั่วไป ถ้าอาการไม่รุนแรงต้นยางมักแห้งหรือตายเฉพาะกิ่งยอด ส่วนของลำต้นหรือกิ่งก้านที่ยังไม่ตายจะแตกแขนงออกมาใหม่

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด
การแพร่ระบาดของโรคเป็นได้ตลอดปีหากสภาพเหมาะสมต่อการเกิดโรค โรคนี้มักเกิดขึ้นมากหลังเกิดสภาวะแห้งแล้ง หรือภายหลังเกิดโรคต่าง ๆ ระบาดอย่างรุนแรง หรือพบในสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ดินทราย หรือบนพื้นที่ตามไหล่เขาที่เป็นโรค มักเกิดกับต้นยางเล็กจนถึงยางที่เปิดกรีดแล้ว

การป้องกันกำจัด
  • หากเกิดจากการระบาดของโรค ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของโรคนั้น ๆ และหมั่นบำรุงรักษาต้นยางให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ
  • หากเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีที่สภาพดินเลวและแล้งจัด ให้รดน้ำตามความจำเป็น แล้วใช้วัสดุคลุมโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น
  • การใช้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • กรณีที่กิ่งหรือยอดแห้งตายลงมา ให้ตัดกิ่งหรือยอดที่ตายออก โดยให้ตัดต่ำกว่ารอยแผลลงมาประมาณ 1 – 2 นิ้ว แล้วทาสารเคมีป้องกันเชื้อราที่รอยแผล
โรคเปลือกแห้ง
สาเหตุการเกิดโรค
เกิดจากการกรีดเอาน้ำยางมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเปลือกที่ถูกกรีดมีธาตุอาหารมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ จนทำให้เปลือกยางบริเวณนั้นแห้งตาย

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
อาการระยะแรก สังเกตได้จากการที่ความเข้มข้นของน้ำยางจางลง หลังจากกรีดเปลือกยางจะแห้งเป็นจุด ๆ อยู่ตามรอยกรีด ระยะต่อมาเปลือกที่ยังไม่ได้กรีดจะแตกแยกเป็นรอยและล่อนออก ถ้ากรีดต่อไปเปลือกยางจะแห้งสนิท ไม่มีน้ำยางไหลออกมา

การป้องกันรักษา
  1. หยุดกรีดยางนั้นประมาณ 6 – 12 เดือน จึงทำการเปิดกรีดหน้าใหม่ทางด้านตรงข้าม หรือเปิดกรีดหน้าสูง
  2. อย่ากรีดยางหักโหม ควรกรีดยางตามคำแนะนำ
โรคใบร่วงและฝักเน่าจากเชื้อไฟทอปโทรา ( Phytophthora Leaf Fall and Pod Rot )
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
ใบยางร่วงพร้อมก้านทั้งที่ยังมีสีเขียวสด มีรอยช้ำดำ ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอนอยู่บริเวณก้านใบ กลางรอยช้ำมีหยดน้ำยางเกาะติดอยู่ เมื่อนำใบยางที่เป็นโรคมาสะบัดเบา ๆ ใบย่อยจะหลุดจากก้านใบทันที ส่วนใบที่ถูกเชื้อเข้าทำลายที่ยังไม่ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้ม แล้วแห้งคาต้นก่อนที่จะร่วง ฝักยางที่ถูกทำลายเปลือกเป็นรอยช้ำฉ่ำน้ำ ต่อมาจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและไม่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ กรณีที่เกิดกับต้นยางอ่อน เชื้อราจะเข้าทำลายบริเวณยอดอ่อนก่อน ทำให้ยอดเน่า แล้วจึงลุกลามเข้าทำลายก้านใบและแผ่นใบ ทำให้ต้นยางยืนต้นตาย

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด
ส่วนใหญ่การแพร่ระบาดของโรคอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - ธันวาคม โรคนี้มักระบาดมากในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก ความชื้นสูง หรือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลลมมรสุม พบในภาคใต้ฝั่งตะวันตก บางพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา นราธิวาส จันทบุรี และตราด โรคนี้แพร่กระจายโดยลมฝนและน้ำฝน มักเกิดกับต้นยางเล็กจนถึงยางใหญ่

การป้องกันกำจัด
  1. ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อรา เช่น ทุเรียน ส้ม และพริกไทย แซมในสวนยาง
  2. กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยาง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เป็นการลดความชื้นในสวนยาง
  3. ต้นยางอ่อนอายุน้อยกว่า 2 ปี ฉีดพ่นพุ่มใบยางด้วยยาเอพรอน หรืออาลีเอท ในอัตรา 40 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ก่อนฤดูกาลโรคระบาดทุก 7 วัน
  4. การใช้สารเคมีป้องกันในต้นยางใหญ่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงแนะนำให้หยุดกรีดยางระหว่างที่เกิดโรคระบาด แล้วใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์
โรคเส้นดำ ( Black Stripe )
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
บริเวณเหนือรอยกรีดในระยะแรกเปลือกจะเป็นรอยช้ำ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นรอยบุ๋มสีดำหรือสีน้ำตาล ขยายขึ้นลงเป็นเส้นตามแนวยืนของลำต้น เมื่อเฉือนเปลือกออกดูจะพบรอยบุ๋มสีดำนั้นเป็นลายเส้นดำบนเนื้อไม้ อาการขั้นรุนแรงทำให้เปลือกของหน้ากรีดบริเวณที่เป็นโรคปริ เน่า มีน้ำยางไหลตลอดเวลา จนเปลือกเน่าหลุดไปในที่สุด เปลือกงอกใหม่เสียหาย กรีดซ้ำไม่ได้ อายุการให้ผลผลิตลดลงเหลือ 8 – 16 ปี ถ้าการเข้าทำลายของเชื้อไม่รุนแรง เปลือกจะเป็นปุ่มปม

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด
โรคนี้แพร่ระบาดมากในช่วงเดือนมิถุนายน - ธันวาคม ระบาดในสวนยางที่เปิดกรีดแล้วในสภาพพื้นที่ที่อากาศมีความชื้นสูง ฝนตกชุก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบร่วงและฝักเน่าอย่างรุนแรง พบทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกและตะวันออก ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และในจังหวัดทางภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด เนื่องจากมีลมมรสุมพัดผ่านและมีฝนตกชุกในพื้นที่ดังกล่าว

การป้องกันกำจัด
  • ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อราเป็นพืชร่วมหรือแซมยาง เช่น ทุเรียน มะพร้าว โกโก้ ส้ม มะละกอ พริกไทย และยาสูบ
  • ใช้ยาอาลีเอท อัตราการใช้ 5 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร พ่นหรือทาหน้ากรีดยางทุก 2 – 4 วัน 6 – 8 ครั้ง หรือใช้ยาเอพรอน อัตราการใช้ 14 กรัม ผสม 1 ลิตร พ่นหรือทาหน้ากรีดยางทุก 7 วัน 4 – 8 ครั้ง
โรคเปลือกเน่า ( Mouldy Rot )
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
เกิดเฉพาะบนหน้ากรีดเท่านั้น อาการระยะแรก เปลือกเหนือรอยกรีดมีลักษณะฉ่ำน้ำเป็นรอยช้ำสีหม่น ต่อมากลายเป็นรอยบุ๋ม ปรากฏเส้นใยของเชื้อราสีขาวเทาขึ้นปกคลุมตรงรอยแผล เมื่ออาการรุนแรงขึ้น เชื้อราจะขยายลุกลามเป็นแถบขนานกับรอยกรีดยางอย่างรวดเร็ว ทำให้เปลือกบริเวณดังกล่าวเน่า หลุดเป็นแอ่ง เหลือแต่เนื้อไม้สีดำ และไม่สามารถกรีดซ้ำหน้าเดิมได้อีก เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณข้างเคียงรอยแผลออกดู จะไม่พบอาการเน่าลุกลามออกไป ซึ่งต่างจากโรคเส้นดำ จะมีลายเส้นดำขยายขึ้นไป และลุกลามลงใต้รอยกรีด

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อระบาด
พบระบาดในสวนยางที่เปิดกรีดแล้วในช่วงเดือนมิถุนายน - ธันวาคม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อากาศมีความชุ่มชื้นสูงและฝนตกชุก พบระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โรคนี้แพร่ระบาดโดยลม และมีแมลงเป็นพาหะ

การป้องกันกำจัด
  • ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อราเป็นพืชร่วมหรือพืชแซมยาง เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วง มะพร้าว และมันฝรั่ง
  • ตัดแต่งกิ่งยาง กำจัดวัชพืชในสวนให้โล่งเตียน และอย่าปลูกยางให้หนาแน่นเกินไป เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
  • เมื่อต้นยางเป็นโรค ให้เฉือนหรือขูดเอาบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วใช้สารเคมี เช่น เบนเลท ในอัตรา 20 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร หรือเอพรอน ในอัตรา 14 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร พ่นหรือทาหน้ากรีดยางทุก 7 วัน 4 – 8 ครั้ง
โรคราแป้ง หรือโรคใบที่เกิดจากเชื้อออยเดียม ( Powdery mildew or Oidium Leaf Disease )
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
ใบอ่อนปลายใบจะบิดงอ มีสีดำ ร่วงหล่นจากต้น ในใบเพสลาดเห็นปุยเส้นใยสีขาวเทาใต้แผ่นใบ เมื่อเจริญต่อไปเห็นรอยแผลสีเหลืองซีด แล้วเปลี่ยนเป็นรอยไหม้สีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างของแผลไม่แน่นอน นอกจากนี้ เชื้อยังเข้าทำลายที่ดอกยาง โดยเชื้อราปกคลุมดอกก่อนที่จะดำแล้วร่วง

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด อยู่ในช่วงต้นยางผลิใบใหม่ตามธรรมชาติ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน โรคนี้ระบาดมากในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมกลางวันร้อน กลางคืนเย็นและชื้น ตอนเช้ามีหมอก พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส สงขลา และฉะเชิงเทรา โรคนี้แพร่กระจายโดยลม และแมลงจำพวกไรที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน

การป้องกันกำจัด
  • ปรับปุ๋ยยางให้มีธาตุไนโตรเจนมากขึ้น และใส่ในช่วงที่ต้นยางผลิใบอ่อน เพื่อเร่งให้ใบยางแตกใบใหม่และแก่เร็ว ให้พ้นระยะที่อ่อนแอต่อการทำลายของเชื้อ
  • พ่นด้วยผงกำมะถัน อัตราไร่ละ 1.5 – 5 กิโลกรัม ทุก 5 – 7 วัน พ่นประมาณ 5 – 6 ครั้ง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
โรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน ( South American Leaf Blight )
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
เชื้อราเข้าทำลายใบยาง หรือเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในขณะที่ยังอ่อน เช่น ดอกยาง ฝัก กิ่งอ่อน ถ้าใบอ่อนอายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ รอยแผลเป็นสีเทาดำ เห็นปุยสีเขียวมะกอกด้านใต้ใบ ใบยางม้วนและบิดย่น แล้วร่วง ในใบเพสลาด แผลจะลุกลามขึ้นด้านบนใบ ใบยางจะหดย่น เปลี่ยนเป็นสีม่วง และใบย่อยร่วง ในใบแก่พบกลุ่มสปอร์สีดำบริเวณขอบแผลด้านบนใบ ต่อมาเนื้อเยื่อตรงแผลจะหลุด เกิดเป็นช่องโหว่ตามรอยแผล

การแพร่ระบาดของเชื้อ
เชื้อราติดไปกับส่วนขยายพันธุ์ยางพาราที่เป็นโรค หรือสปอร์ปนเปื้อนมาจากพืชชนิดอื่นที่นำมาจากแหล่งที่มีโรค หรือสปอร์ปนเปื้อนมากับเสื้อผ้า สัมภาระ เครื่องมือการเกษตร ของผู้ที่เข้าไปในสวนยางที่เป็นโรค โรคนี้พบในพื้นที่ปลูกยางเฉพาะกลุ่มในประเทศแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และหมู่เกาะคาริบเบียน เขตระหว่างเส้นรุ้งที่ 24 องศาใต้ในประเทศบราซิล ถึง 18 องศาเหนือในประเทศเม็กซิโก โรคนี้ยังไม่พบเกิดขึ้นในประเทศไทย

การป้องกันกำจัด
  • คัดเลือกพันธุ์ยางที่มีความต้านทานโรคสูงมาปลูก
  • เมื่อยางผลัดใบ ต้องทำลายใบยางที่ร่วงลงพื้นอยู่เสมอ
  • ถ้าพบโรคที่น่าสงสัย ให้นำตัวอย่างไปติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ที่สุด เช่น สถานีทดลองยาง ศูนย์วิจัยยาง กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และกองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร
โรครากขาว ( White Root Disease )
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
พุ่มใบแสดงอาการใบเหลืองผิดปกติ 1 – 2 กิ่ง หรือทั้งต้น ถ้าเป็นยางเล็กใบจะเหี่ยวเฉา ขอบใบม้วนงอลงด้านล่างแล้วร่วง ก่อนที่จะยืนต้นตาย บริเวณรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายมีร่างแหเส้นใยสีขาวแผ่คลุมเกาะติดผิวราก เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคใหม่ ๆ จะแข็งกระด้าง สีน้ำตาลซีด ในระยะรุนแรงจะเป็นสีขาวหรือสีครีม ถ้าอยู่ในที่ชื้นแฉะจะอ่อนนิ่ม บริเวณโคนต้นหรือรากที่โผล่พ้นดินจะปรากฏดอกเห็ดขนาดไม่แน่นอน มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งครึ่งวงกลมแผ่นเดียว หรือซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ผิวด้านบนเป็นสีเหลืองส้ม โดยมีสีเข้มและอ่อนเรียงสลับกันเป็นวง ผิวด้านล่างเป็นสีส้มแดงหรือน้ำตาล ขอบดอกเห็ดมีสีขาว

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด
อยู่ในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน - ธันวาคม ระบาดรวดเร็วเนื่องจากฝนตกชุก ความชื้นสูง พบในพื้นที่ปลูกยางบนพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี การแพร่ระบาดของโรคเกิดได้ 2 ทาง คือ โดยการสัมผัสของรากที่เป็นโรคกับรากของต้นที่สมบูรณ์ และสปอร์จากดอกเห็ดปลิวตามลมไปตกลงบนรอยหักหรือหน้าตัดของตอยาง เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม สปอร์จะงอกเจริญไปยังโคนต้นและราก

การป้องกันกำจัด
  • ปลูกยางในพื้นที่ปลอดโรค และควรเตรียมพื้นที่ปลูกให้ปลอดโรค โดยการขุดทำลายตอยางเก่าที่อาจจะเป็นแหล่งก่อให้เกิดโรค
  • ในพื้นที่ที่มีการระบาดไม่ควรปลูกพืชอาศัยของโรค เช่น ส้ม โกโก้ ชา กาแฟ มะพร้าว ไผ่ พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มันเทศ มันสำปะหลัง น้อยหน่า ลองกอง สะตอ จำปาดะ สะเดาเทียม ทัง ทุเรียน และเนียงนก
  • ใช้กำมะถันในอัตราต้นละ 240 กรัม ใส่ในหลุมปลูกก่อนปลูกยาง จะช่วยปรับสภาพดิน ทำให้ไม่เหมาะกับการเจริญของเชื้อ
  • เมื่อพบต้นที่เป็นโรค ให้เฉือนส่วนที่เป็นโรคทิ้ง แล้วทาสารเคมี เช่น ทิลท์ 250 อีซี อัตรา 7.5 % หลังจากนั้นขุดดินรอบโคนต้นเป็นร่องกว้างและลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ราดสารเคมี เช่น ทิลท์ 250 อีซี ในอัตราต้นละ 30 ซีซี ผสมน้ำ 3 ลิตร หรือเบเร่ต์ 400 ในอัตราต้นละ 10 – 15 กรัม ผสมน้ำ 3 ลิตร ลงในร่องรอบ ๆ โคนต้น โดยไม่ต้องกลบดินทุก 6 เดือน
  • เก็บต้นหรือรากไม้ที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้งให้หมด โดยเฉพาะเศษรากไม้ที่มีเส้นใยสีขาวของเชื้อราติดอยู่ เพื่อลดแหล่งเชื้อ
โรคใบจุดก้างปลา
สาเหตุการเกิดโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
แผลบนใบมี 2 ลักษณะ เป็นจุดกลมทึบสีน้ำตาลดำ ขอบแผลสีเหลือง และแผลลายก้างปลา ต่อมาใบจะร่วง สำหรับแผลบนกิ่งก้านเป็นรูปยาวรีตามความยาวของกิ่งก้าน กลางแผลจะช้ำ ต่อมากิ่งก้านจะแห้งตาย

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด
ระบาดในพื้นที่ทั่วไป เฉพาะแหล่งที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด
  1. ปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค
  2. ตัดแต่งกิ่งก้านและกำจัดวัชพืชในสวนยางให้โล่งเตียน เพื่อลดความชื้นและความรุนแรงของโรค
  3. ไม่ควรปลูกงา ถั่วเหลือง และมะละกอ ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เนื่องจาก เป็นพืชอาศัยของโรค
  4. ใช้สารป้องกันกำจัดโรค
โรคราสีชมพู
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
บริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นรอยปริ มีน้ำยางไหลซึมเป็นทางยาว และมีเส้นใยสีขาว คล้ายใยแมงมุมปกคลุม เมื่อเชื้อราเจริญลุกลามเข้าถึงเนื้อไม้จะเห็นผิวเปลือกเป็นแผ่นสีชมพู และมีกิ่งใหม่แตกออกบริเวณใต้รอยแผล

ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เชื้อแพร่ระบาด
ระบาดในพื้นที่ทั่วไป เฉพาะแหล่งที่มีสภาพแวดล้อม เหมาะสมจะระบาดมากในฤดูฝน

การป้องกันกำจัด
  • ปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค
  • ตัดแต่งกิ่งก้านและกำจัดวัชพืชในสวนยางให้โล่งเตียนเพื่อลดความชื้นและความรุนแรงของโรค
  • ต้นที่เป็นโรค ให้ตัดส่วนที่เป็นโรคต่ำกว่ารอยแผล 2 – 3 นิ้ว เผาส่วนที่เป็นโรค ทาสารป้องกันเคลือบรอยแผลที่ตัด
  • ใช้สารป้องกันกำจัดโรค
ปลวก ( termites )
ลักษณะการทำลาย
ปลวกมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่กินเนื้อไม้ที่ตายแล้ว ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อต้นยาง และชนิดกินเนื้อไม้สด ซึ่งจะกัดกินรากและภายในลำต้นจนเป็นโพรง ทำให้พุ่มใบยางมีสีเหลืองผิดปกติ ต้นยางเสียหายถึงตายได้

การป้องกันกำจัด
ใช้สารเคมีคลอเดนในอัตรา 125 – 175 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดรอบต้นยางที่ถูกปลวกทำลาย และต้นยางข้างเคียง ต้นละ 1 – 2 ลิตร
หนอนทราย ( grub of cockchafers )
ลักษณะการทำลาย
หนอนทรายเป็นตัวอ่อนของด้วงชนิดหนึ่ง รูปร่างเหมือนตัวซี ( C ) ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร สีขาว หนอนทรายกัดกินรากยางจนรากไม่สามารถดูดหาอาหารเลี้ยงลำต้นได้ ทำให้พุ่มใบยางมีสีเหลืองผิดปกติ ต้นยางตายเป็นหย่อม ๆ พบมากในแปลงต้นกล้ายางที่ปลูกในดินทราย

การป้องกันกำจัด
ใช้วิธีเขตกรรมและวิธีกล โดยปลูกพืชล่อแมลง เช่น ตะไคร้ มันเทศ และข้าวโพด รอบต้นกล้ายางที่ปลูกใหม่ แมลงจะออกมาทำลายพืชล่อ หลังจากนั้นให้ขุดพืชล่อ จับแมลงมาทำลาย หรือใช้สารเคมี เอ็นโดซัลแฟน + บีพีเอ็มซี ( 4.5 % จี ) ในอัตราไร่ละ 5 กิโลกรัม โรยรอบ ๆ ข้างต้นยาง แล้วกลบดิน หรือใช้คลอเดนในอัตรา 40 – 80 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดรอบต้นยางที่ถูกหนอนทรายกัดกิน และต้นยางข้างเคียง ต้นละ 1 – 2 ลิตร

ระบบกรีด

ยางพารา

สถาบันวิจัยยาง
ระบบกรีด
การกรีดยางในระยะ 3 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ยางกำลังเจริญเติบโต ไม่ควรกรีดหักโหมมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตลดลงในภายหลัง ระบบกรีดที่เหมาะสมควรเป็นดังนี้
  1. กรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน ระบบนี้ใช้กับยางทุกพันธุ์ โดยหยุดกรีดในฤดูผลัดใบและไม่มีการกรีดชดเชย
  2. กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน ระบบนี้เหมาะกับยางทุกพันธุ์ ยกเว้นพันธุ์ RRIM 628 , PB 28 / 59 และ PB 5 / 63 ซึ่งเกิดโรคเปลือกแห้งได้ง่าย โดยต้องหยุดกรีดในฤดูผลัดใบ และไม่มีการกรีดชดเชย
  3. กรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน ร่วมกับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ความเข้มข้นร้อยละ 2.5 เหมาะสำหรับยางพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำในระยะแรกของการกรีด โดยใช้สารเคมีทาใต้รอยกรีดที่ขูดเปลือกกว้าง 2.5 เซนติเมตร ปีละ 2 – 3 ครั้ง ในปีถัดไป หากผลผลิตเพิ่มขึ้นให้หยุดใช้สารเคมี
การกรีดยางหลังจาก 3 ปีไปแล้ว ต้นยางจะทนทานต่อการกรีดมากขึ้น ระบบการกรีดที่เหมาะสมช่วงนี้ คือ
  1. กรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน เหมาะสำหรับพันธุ์ยางที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่าย สามารถกรีดชดเชยได้
  2. กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน ใช้ได้กับยางทุกพันธุ์ ยกเว้นพันธุ์ที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่าย และสามารถกรีดชดเชยได้เฉพาะท้องที่ที่มีการกรีดน้อยกว่า 200 วัน
  3. กรีดครึ่งตัน วันเว้นสองวัน ร่วมกับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง เหมาะสำหรับยางพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ และตอบสนองต่อการใช้สารเคมีได้ดี ควรใช้สารเคมีเพียงปีละ 2 – 3 ครั้ง
การกรีดเปลือกงอกใหม่ เมื่อกลับไปกรีดยางในหน้าที่เปลือกงอกใหม่ ควรใช้ 3 ระบบ คือ
  1. กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน ใช้ได้กับยางทุกพันธุ์ และกรีดชดเชยได้
  2. กรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน ใช้สำหรับยางพันธุ์ที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่าย และสามารถกรีดชดเชยได้
  3. กรีดครึ่งต้น วันเว้นสามวัน หรือกรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน ร่วมกับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง และไม่ควรทาติดต่อกัน เพราะจะทำให้ต้นยางทรุดโทรมมากเกินไป
ข้อควรปฏิบัติในการกรีดยาง
  • ควรกรีดยางตอนเช้าหลังจากที่มีแสงสว่างแล้ว
  • กรีดยางเฉพาะต้นที่ได้ขนาดแล้ว
  • รอยกรีดจะต้องเริ่มจากซ้ายบนมาขวาล่าง เอียงประมาณ 30 องศากับแนวระดับ
  • กรีดเปลือกให้บาง อย่ากรีดเปลือกหนาจนลึกถึงเนื้อไม้ เพราะจะทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหายเป็นปุ่มปม ภายใน 1 เดือน ไม่ควรกรีดให้ความสิ้นเปลืองเปลือกเกิน 2.0 – 2.5 เซนติเมตร หรือภายใน 1 ปี ไม่ควรกรีดให้ความสิ้นเปลืองเปลือกเกิน 25 เซนติเมตร เพื่อให้กรีดได้นานที่สุด
  • หยุดกรีดเมื่อยางผลัดใบ หรือเป็นโรคหน้ายาง หรือเป็นโรคเปลือกแห้ง จนกว่าจะหาย
  • มีดกรีดยางต้องลับให้คมอยู่เสมอ เพื่อสามารถกรีดเปลือกได้บาง ไม่ต้องออกแรงมาก และหลีกเลี่ยงบาดแผลที่จะทำให้หน้ายางเสีย
  • การเปิดกรีดยางหน้าที่สองและหน้าต่อไป ให้เปิดกรีดที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร
การกรีดยางหน้าสูง
การกรีดยางหน้าสูง หมายถึง การกรีดยางหน้าบนเหนือหน้ากรีดปกติ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่เคยกรีดยางมาก่อน ต้นยางที่เหมาะสมที่จะทำการกรีดยางหน้าสูง คือ ต้นยางก่อนโค่นซึ่งมีอายุมาก หรือหน้ากรีดปกติเสียหาย  โดยทั่วไปการกรีดยางหน้าสูงจะต้องใช้สารเคมีเร่งน้ำยางควบคู่กันไปด้วย เพื่อต้องการให้ได้รับยางมากที่สุดก่อนที่จะโค่นยางเก่า เพื่อปลูกแทน 2 – 4 ปี โดยใช้สารเคมีเร่งน้ำยางอีเทรล 2.5 % เป็นตัวเร่ง

การกรีดยาง

ยางพารา

สถาบันวิจัยยาง
การกรีดยาง
การกรีดยางที่ดีและถูกต้อง ต้องคำนึงถึง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ได้แก่ พันธุ์ยาง อายุต้นยาง ฤดูกาล การเปิดกรีด วิธีการกรีด ระบบกรีด วิธีการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง และ ความชำนาญของคนกรีด การเลือกใช้ปัจจัย ที่สอดคล้องเหมาะสม สามารถเพิ่มผลผลิตยาง ให้สูงขึ้น ถนอมต้นยางให้สามาถกรีดได้ยาวนานขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนปลูกสร้างสวนยาง

โดยทั่วไปต้นยางเปิดกรีดได้เมื่ออายุ ประมาณ 7 ปีครึ่ง และต้นยางในสวนนั้น ต้องมีขนาดเปิดกรีดได้มากกว่าร้อยละ 70 ของยางทั้งหมด สำหรับต้นติดตาที่ระดับ ความสูง 150 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้น ต้องไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร

การกรีดยางต้องยึดหลักที่ว่า เมื่อกรีดแล้วต้องได้น้ำยางมาก เปลือกเสียหายน้อยที่สุด และสามารถกรีดได้นานประมาณ 25 – 30 ปี

ขนาดของต้นยางที่เปิดกรีดได้
- การเปิดกรีดครั้งแรก

ต้นติดตา
  1. ต้นยางจะเปิดกรีดได้เมื่อวัดรอบต้นตรงบริเวณที่สูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร ได้ 50 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยไม่คำนึงถึงอายุของต้นยาง และเปิดกรีด ณ จุดที่สูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร
  2. ในระยะ 3 ปีแรก กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน โดยไม่มีการกรีดชดเชย และควรหยุดกรีดเมื่อยางผลัดใบ
  3. กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน ตลอดไป หลังจากกรีดไปแล้ว 3 ปี และมีการกรีดชดเชย ถ้าวันกรีดน้อยกว่า 200 วัน / ปี
  4. กรีดจากซ้ายมาขวา โดยทำมุมให้เอียง 30 – 35 องศา กับแนวระดับ
ต้นกล้า
  1. ต้นยางจะเปิดกรีดได้เมื่อวัดรอบต้นตรงบริเวณที่สูงจากพื้นดิน 75 ซม. ได้ 50 เซนติเมตรขึ้นไป โดยไม่คำนึงถึงอายุของต้นยาง และเปิดกรีดที่จุดสูงจากพื้นดิน 75 เซนติเมตร
  2. กรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน สำหรับหน้าแรก
  3. กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน สำหรับหน้าต่อไป โดยไม่ต้องกรีดชดเชย แต่ควรหยุดกรีดเมื่อต้นยางผลัดใบ
  4. กรีดจากซ้ายไปขวา โดยทำมุมให้เอียง 30 – 35 องศา กับแนวระดับ
เวลาที่เหมาะสมในการกรีดยาง
ควรจะเริ่มกรีดยางตั้งแต่ตอนเช้า ประมาณ 06.00 – 08.00 น. เพราะจะทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวก เนื่องจากมองเห็นชัดเจนกว่ากลางคืน และผลผลิตที่ได้ใกล้เคียงกับการกรีดในตอนกลางคืน

ขนาดของงานกรีดยาง
คนกรีดยาง 1 คน จะสามารถกรีดยางในสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ราบ ตามระบบครึ่งลำต้นวันเว้นวัน ได้ประมาณ 400 – 450 ต้น / วัน

วิธีการกรีดยาง
ควรกรีดยางโดยใช้วิธีกระตุกข้อมือหรือการซอย พร้อมกับย่อตัวและสลับเท้าไปตามรอยกรีดของต้นยาง อย่ากรีดโดยวิธีใช้ท่อนแขนลากหรือกระชากเป็นอันขาด การกรีดโดยวิธีกระตุกข้อมือจะทำให้กรีดได้เร็ว ควบคุมการกรีดง่าย กรีดเปลือกได้บาง แม้จะกรีดบาดเนื้อไม้ก็จะบาดเป็นแผลเล็ก ๆ เท่านั้น

ระบบการกรีดยาง
การกรีดยางสามารถแบ่งตามช่วงระยะเวลาการกรีด และการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางได้ 4 ประเภท คือ
  1. การกรีดในระยะ 3 ปีแรก
  2. การกรีดในระยะ 3 ปีไปแล้ว
  3. การกรีดเปลือกงอกใหม่
  4. การใช้สารเคมีเร่งน้ำยางกับเปลือกเดิม ของยางบางพัน

วัชพืชและการป้องกันกำจัด

ยางพารา

สถาบันวิจัยยาง
วัชพืชและการป้องกันกำจัด
วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
  • วัชพืชประเภทใบแคบ มีลักษณะที่เห็นได้ชัด คือ ใบจะเรียวยาว เส้นใบขนานกัน ระบบรากเป็นรากฝอย ไม่มีรากแก้ว ได้แก่ หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนติด หญ้าใบไผ่ หญ้ามาเลเซีย หญ้าหวาย
     
  • วัชพืชประเภทใบกว้าง ลักษณะที่เห็นเด่นชัด คือ เส้นใบแตกเป็นร่างแห ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย ได้แก่ หญ้าเขมร สาบแร้งสาบกา หญ้ายาง วัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยต้น ราก เหง้า หัว และไหล ได้ดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
     
  • วัชพืชประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้าคา หญ้าขจรจบดอกเหลือง หญ้าแพรก
  • วัชพืชประเภทใบกว้าง ได้แก่ สาบเสือ ขี้ไก่ย่าน
การป้องกันกำจัดทำได้ 3 วิธี คือ
1. ใช้วิธีการแบบเขตกรรม คือ
  • ไถและพรวนดินอย่างน้อย 2 ครั้งก่อนปลูก
  • เก็บเศษซากวัชพืชออกให้หมดหลังการพรวนดิน
  • ใช้แรงงานขุด ถาก ดาย หรือตัดวัชพืชที่ขึ้นในแถวยาง และควรทำก่อนวัชพืชออกดอก
  • ใช้วัสดุคลุมดิน โดยนำวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ คลุมโคนต้นยาง เฉพาะต้นหรือตลอดแถว เว้นระยะพอควร อย่าให้ชิดโคนต้นยาง
2. ใช้วิธีปลูกพืชคลุมดิน
การปลูกพืชคลุมดินในระยะแรกของการปลูกสร้างสวนยาง ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ป้องกันการพังทลายของดิน และช่วยควบคุมวัชพืช เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช

ประโยชน์ของพืชคลุมดิน
1. ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช
2. ป้องกันการชะล้างหน้าดิน และช่วยลดการพังทลายของดิน
3. ช่วยลดอุณหภูมิในดินลง และช่วยรักษาความชื้นในดิน
4. เพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่ดิน
5. ลำต้นและใบที่ร่วงจะเปลี่ยนเป็นอินทรียวัตถุ
6. ลดการเกิดโรครากของต้นยาง

พันธุ์พืชคลุมดิน
พืชคลุมดินที่เหมาะกับการปลูกในสวนยาง เป็นพืชตระกูลถั่ว ได้แก่
  • คาโลโปโกเนียม เป็นพืชคลุมชนิดเถา เลื้อยไปตามผิวดิน ฝักมีขน ใบใหญ่ ดอกเล็กสีน้ำเงินอ่อน เมล็ดเล็กแบนสีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้รวดเร็วมากจนแน่นทึบคลุมดินได้หนา 30 – 60 ซม. ภายในเวลา 5 – 6 เดือน ออกดอกหลังจากปลูกประมาณ 3 – 5 เดือน เมื่อมีอายุ 18 เดือนไปแล้วก็เริ่มขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด ชอบฝนตกชุก แต่ไม่ชอบน้ำขัง ไม่ชอบร่มเงา น้ำหนัก 1 กก.มีจำนวนเมล็ดประมาณ 68,400 เมล็ด
     
  • เซนโตรซิมา เป็นพืชคลุมดินชนิดเถา เลื้อยไปตามผิวดิน ชอบเลื้อยพันขึ้นต้นไม้ ดอกใหญ่สีม่วงอ่อน ใบเล็ก เมล็ดเล็กแบนสีน้ำตาลอมเขียวมีลายกระ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถั่วลาย เถาขึ้นไม่สู้ทึบ ในระยะแรกเจริญเติบโตช้า แต่ต่อไปจะขึ้นได้แน่นและอยู่ได้นาน รากแทงลงในดินได้ลึกแผ่ออกข้าง ๆ มาก ชอบดินค่อนข้างดี ไม่ชอบน้ำขัง ขึ้นได้ดีภายใต้ร่มเงา น้ำหนัก 1 กก.มีจำนวนเมล็ดประมาณ 39,700 เมล็ด
     
  • เพอราเรีย เป็นพืชคลุมดินชนิดเถา มีเถาใหญ่ ชอบเลื้อยพันต้นไม้ มีขนมาก ใบใหญ่และหนา ดอกสีม่วง เมล็ดเล็กค่อนข้างกลมสีน้ำตาลแก่ เปลือกเมล็ดแข็ง งอกช้า คลุมดินได้หนาทึบภายใน 5 – 6 เดือน กินปุ๋ยมาก ไม่ค่อยออกดอก ให้เมล็ดน้อย คลุมดินได้ดีเมื่ออายุ 2 ปีไปแล้ว ควบคุมวัชพืชได้ดี ทนร่มเงา ชอบดินเหนียวโปร่ง น้ำหนัก 1 กก.มีจำนวนเมล็ดประมาณ 82,500 เมล็ด
     
  • ซีรูเลียม เป็นพืชคลุมชนิดลำต้นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด เถาแก่มีรากเป็นปุ่มเล็ก ๆ สีขาวเกือบทุกข้อ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันค่อนข้างหนาคล้ายใบโพธิ์ ดอกเป็นช่อสีม่วง เริ่มสร้างดอกในเดือนธันวาคม ลักษณะฝักแบนค่อนข้างเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 ซม. สีน้ำตาลเข้ม มีเมล็ดฝักละ 2 – 9 เมล็ด เมล็ดมีสีเขียวอ่อนจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี การเจริญเติบโตในระยะแรกสู้วัชพืชไม่ได้ คลุมดินได้หนาทึบในปีที่ 2 มีจำนวนเมล็ดประมาณ กก. ละ 28,000 เมล็ด
การปลูกพืชคลุมดิน
  • ปลูกแบบหว่าน ห่างจากแถวยาง 2 เมตร เหมาะกับสวนที่โล่งเตียนและเตรียมพื้นที่อย่างดี
  • ปลูกแบบเป็นแถว ปลูกห่างกัน 2 เมตร 3 แถว เหมาะกับสวนที่ปลูกพืชแซมและสวนที่อยู่บนเนินเขา
  • ปลูกแบบเป็นหลุม ระยะ 30 x 100 ซม. จำนวน 5 แถว เหมาะสำหรับสวนที่มีวัชพืชขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังไม่หนาแน่น
การเตรียมเมล็ดพืชคลุม
  • ผสมเมล็ดพืชคลุม คาโลโปโกเนียม : เซนโตรซิมา : เพอราเรีย อัตรา 5 : 4 : 1 หรือ 2 : 2 : 1 หรือ 1 : 1 : 1
  • ใช้เมล็ดพืชคลุมผสม อัตราไร่ละ 1 กก.
  • แช่เมล็ดในน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น ( น้ำเดือด : น้ำเย็น อัตรา 2 : 1 ) นาน 12 ชม.
  • ผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตในอัตราส่วน 1.5 เท่าของน้ำหนักเมล็ด คลุกเมล็ดพืชคลุมก่อนปลูก
การบำรุงรักษาพืชคลุม
เพื่อให้พืชคลุมเจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้เร็ว และเพื่อเพิ่มปริมาณเศษซากพืชคลุม ควรใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟต ( 0 – 3 – 0 , 25 % Total ) บำรุงพืชคลุม

3. การใช้สารเคมี
เป็นวิธีที่ให้ผลดี ประหยัดแรงงานและเวลา นิยมใช้กับต้นยางที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป หรือต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาล สูงจากพื้นดินมากกว่า 75 เซนติเมตรไปแล้ว ส่วนต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินน้อยกว่า 75 เซนติเมตร ไม่ควรใช้วิธีนี้

การตัดแต่งกิ่งยางพารา

ยางพารา

สถาบันวิจัยยาง
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งที่ถูกวิธีช่วยให้ต้นยางมีลำต้นกลม ตรง เปลือกบริเวณที่กรีดไม่มีปุ่มปม ง่ายต่อการกรีด ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทรงพุ่มสมดุล โปร่ง และป้องกันโรคจากเชื้อรา

ข้อควรปฏิบัติในการตัดแต่งกิ่ง
  • ตัดแต่งกิ่งในช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน ไม่ควรตัดแต่งกิ่งในฤดูแล้ง
  • ตัดแต่งกิ่งแขนงในระดับต่ำกว่า 2 เมตร เริ่มตั้งแต่ยางอายุประมาณ 1 ปี
  • การตัดกิ่งแขนงครั้งแรกในต้นฤดูฝน ให้ใช้วิธีทยอยตัดกิ่งแขนงออก เพื่อป้องกันต้นยางสูงชะลูด
  • ในสภาพท้องที่แห้งแล้ง ควรตัดแต่งกิ่งแขนงในระดับต่ำกว่า 1.7 เมตร
  • ใช้กรรไกรตัดให้ชิดกับลำต้น ไม่ควรใช้มีดตัดหรือสับ
  • อย่าโน้มต้นลงมาเพื่อตัดกิ่ง เพราะทำให้เกิดอันตรายต่อต้นยาง เช่น เปลือกแตก น้ำยางไหล หรือต้นหักได้
  • ควรทาสารเคมีป้องกันโรคและแมลง ปูนขาว ปูนแดง หรือสี บริเวณรอยแผล ที่ตัดแต่งกิ่งทุกครั้ง
การสร้างทรงพุ่ม
  • สร้างทรงพุ่มที่ระดับความสูง 2.00 – 2.50 เมตร
  • ถ้าต้นยางสูงไม่มากนัก ให้ใช้วิธีคลุมยอดหรือวิธีสวมยอด แต่ถ้าต้นยางสูงมาก และส่วนสีน้ำตาลสูงเกิน 2.50 เมตร ให้ใช้วิธีควั่นที่ระดับประมาณ 2.20 เมตร
  • ห้ามใช้วิธีตัดยอด แต่ถ้าจะใช้ต้องเลี้ยงพุ่มให้มีแขนงยอด โดยวีตัดทอนแขนงข้าง 3 – 5 กิ่ง ให้เจริญเติบโตต่ำกว่าแขนงยอด เพื่อป้องกันทรงพุ่มหนัก และกิ่งแตกเป็นกระจุก
  • ถ้ามีกิ่งแขนงแตกที่ระดับ 2 – 2.5 เมตรแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างทรงพุ่มกับต้นยางต้นนั้นอีก
  • ถ้าในแปลงมีต้นยางสูงขนาดน้อยกว่า 40% ของต้นปลูก ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างทรงพุ่มกับต้นยางที่สูงชะลูดที่เหลือ
การทำแนวป้องกันไฟ
  • ขุดถากวัชพืชและเก็บเศษซากเหลือของพืชออกให้หมด เป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร รอบบริเวณสวน
  • ปราบวัชพืชบริเวณแถวยางและระหว่างแถวยางก่อนเข้าหน้าแล้ง
  • กรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้เล็กน้อย แนะนำให้ใช้ปูนขาวทาลำต้นทันที เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด โรค และแมลงที่อาจเข้าทำลายได้
  • ถ้าต้นยางในสวนได้รับความเสียหายจากไฟไหม้เป็นจำนวนมาก จนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกินร้อยละ 40 ของแปลง ควรจะทำการปลูกใหม่ทั้งแปลง
การป้องกันรอยไหม้จากแสงแดด
  • ต้นยางที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดด ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อส่วนรับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน จนเซลล์เนื้อเยื่อเสียหาย ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
  • ก่อนเข้าช่วงแล้งควรใช้ปูนขาวทาบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดดในช่วงแล้ง
การคลุมโคน
ควรคลุมบริเวณโคนต้นยาง เพื่อรักษาความชื้นในดินในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้วัสดุคลุมพื้นที่บริเวณโคนต้นยางเป็นวงกลม ห่างจากโคนต้นยาง 5 – 10 เซนติเมตร ให้มีรัศมีคลุมพื้นที่โคนต้นยางประมาณ 1 เมตร คลุมหนาประมาณ 10 เซนติเมตร คลุมตลอดแถวยาง ในกรณีสามารถหาวัสดุดังกล่าวได้ง่าย มีปริมาณมาก และแรงงานพอ ควรคลุมให้ตลอดทั้งแถวยาง จากโคนต้นยางแผ่คลุมพื้นที่ออกไปข้างละ 1 เมตร วิธีนี้จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้ดีขึ้นในช่วงฤดูแล้ง และยังช่วยป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้นในแถวยางอีกด้วย
ที่มา... http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/rubber_tree/13.html

การใส่ปุ๋ยยางพาราระยะก่อนเปิดกรีดและหลังเปิดกรีด

ยางพารา

สถาบันวิจัยยาง
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในยางพารา
ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ที่จะช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมของดินปลูกยาง ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์มีบทบาทมากขึ้นในการนำมาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงบำรุงดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้น สถาบันวิจัยยางจึงได้ดำเนินงานวิจัยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีในสวน ยาง เพื่อศึกษาอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมที่ช่วยให้ต้นยางเปิดกรีดได้เร็วขึ้น และเพิ่มผลผลิตยางได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มกับการลงทุน มีวิธีการใช้ดังนี้

การให้ปุ๋ย
ระยะก่อนเปิดกรีด
  • ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20 – 10 – 12 อัตราและเวลาใส่ปุ๋ยตามอายุของต้นยาง
  • ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตราการใส่ตามตารางที่ 1
  • ใส่ปุ๋ยโดยวิธีหว่านรอบต้น หรือโรยเป็นแถบ 2 ข้างต้นยาง บริเวณทรงพุ่มของใบยาง แล้วคราดกลบ กำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ย
  • พื้นที่ลาดเท ควรใส่ปุ๋ยโดยวิธีการขุดหลุม 2 จุด ตามแนวทรงพุ่มของใบยาง แล้วกลบเพื่อลดการชะล้าง
  • ใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีความชื้น ไม่ควรใส่ปุ๋ยในฤดูแล้งหรือมีฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน
ระยะหลังเปิดกรีด
  • ใส่ปุ๋ยเคมี โดยผสมปุ๋ยเคมีสูตร 30 – 5 – 18 อัตรา 1 กิโลกรัม / ต้น / ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน
  • ใส่ปุ๋ยโดยวิธีหว่าน หรือโรยเป็นแถบบริเวณระหว่างแถวยางแล้วกลบ
  • ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์โดยกลบลงในดินที่มีความชื้นเพียงพอ ใส่ก่อนใส่ปุ๋ยเคมี 15 – 20 วัน
การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
นอกจากใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จแล้ว เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยเคมีใช้เองเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมี สูตรสำเร็จ โดยการนำแม่ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุอาหารหลักมาผสมใช้เองตามสูตรที่ต้องการ สำหรับแม่ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้เป็นแม่ปุ๋ยที่สะดวกในการจัดซื้อและราคาถูก ได้แก่

- ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ( 18 – 46 – 0 )
- ปุ๋ยยูเรีย ( 46 – 0 – 0 )
- ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ( 0 – 0 – 60 )

วิธีการผสมปุ๋ย
การผสมปุ๋ยใช้เองเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่เกษตรกรสามารถทำได้เอง เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผสมปุ๋ยมีเครื่องชั่ง ขันน้ำพลาสติก จอบหรือพลั่ว ลานพื้นซีเมนต์หรือลานดินที่แน่นเรียบ โดยมีขั้นตอนการผสม ดังนี้
  • ชั่งแม่ปุ๋ยที่มีขนาดสม่ำเสมอใกล้เคียงกันตามน้ำหนักที่ ต้องการ แม่ปุ๋ยที่ใช้ในปริมาณมากให้ชั่งก่อน เทลงบนลานผสมปุ๋ย เกลี่ยให้เป็นกองแบน ๆ เสร็จแล้วจึงเอาแม่ปุ๋ยชนิดอื่นที่มีจำนวนน้อยกว่าเททับให้ทั่วกองตามลำดับ
  • ใช้พลั่วหรือจอบผสมคลุกเคล้าปุ๋ยให้เข้ากัน โดยพลิกกลับไปมาจนปุ๋ยทุกส่วนผสมเข้ากันอย่างสม่ำเสมอ
  • ตักปุ๋ยผสมใส่กระสอบปุ๋ย นำไปใช้ได้ทันที
  • ควรผสมปุ๋ยในจำนวนที่ต้องการเท่านั้น ไม่ควรเก็บปุ๋ยผสมไว้นานเกิน 2 สัปดาห์ เพราะปุ๋ยอาจชื้นและจับตัวเป็นก้อนแข็ง ทำให้ปุ๋ยเสื่อมคุณภาพ
ระยะเวลาและอัตราการใส่ปุ๋ย
ต้นยางก่อนเปิดกรีด ในระยะตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงต้นยางอายุประมาณ 17 เดือน จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้จึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยให้บ่อยครั้งในปริมาณที่เพียงพอกับความต้อง การของต้นยาง หลังจากที่ต้นยางมีอายุเกิน 17 เดือนขึ้นไปแล้ว จะใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง

ข้อดีของการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
  1. หลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอมหรือปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากแม่ปุ๋ยเคมีจัดหามาจำหน่ายได้มีการตรวจสอบคุณภาพ
  2. เกษตรกรมีปุ๋ยใช้ทันเวลา เพียงแต่มีแม่ปุ๋ย 3 ชนิด ถ้าสามารถผสมปุ๋ยเคมีได้ทุกสูตร โดยไม่ต้องไปจัดซื้อปุ๋ยเม็ดแต่ละครั้ง ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งประกันเรื่องการขาดแคลนปุ๋ยในเวลาที่ต้องการใช้ แม่ปุ๋ยเคมีเหลือเก็บไว้ใช้ปลายปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ
  3. มีอำนาจในการต่อรองราคา เมื่อเกษตรกรผสมปุ๋ยเคมีใช้เองจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดอำนาจในการต่อรองราคาจากผู้ผลิตปุ๋ยเคมีชนิดเม็ด เพราะผู้ขายจำเป็นต้องลดกำไรและปรับราคาให้ถูกลงเพื่อดึงดูดลูกค้ากลับมา มีผลทำให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดถูกลงด้วย
  4. ทำให้เกษตรกรเกิดความรู้ความชำนาญ เมื่อเกษตรกรผสมปุ๋ยสูตรต่าง ๆ แล้ว นำไปใช้กับพืชแต่ละชนิด เกิดความชำนาญและเกิดความคิดดัดแปลงในการปรับสูตรปุ๋ย โดยการเพิ่ม – ลดปริมาณธาตุอาหารแต่ละชนิดในส่วนผสมของปุ๋ย ทำให้ผู้ใช้ปุ๋ยเคมีเกิดการพัฒนา เป็นหนทางนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในหลักการและหน้าที่ของแม่ปุ๋ยแต่ละชนิด เกิดผลดีแก่เกษตรกรของประเทศโดยส่วนร่วม
  5. เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคายุติธรรม ราคาของปุ๋ยผสมใช้เองสูตรต่าง ๆ ถูกกว่าปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดที่จำหน่าย เพราะลดขั้นนอนการผลิต
  6. เกิดการสูญเสียน้อยกว่า ในกรณีที่เกิดผลเสียหาย เช่น น้ำท่วม โรคระบาด พืชผลเสียหายหมด ความสูญเสียของเกษตรกรที่ใช้แม่ปุ๋ยเคมีผสมเอง เกิดการสูญเสียคิดเป็นจำนวนเงินน้อยกว่า เพราะต้นทุนถูกกว่าเป็นการลดอัตราการเสี่ยงต่อความเสียหาย มีความมั่นคงมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ด
  7. ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกเพิ่มขึ้น สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าควรใช้ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดที่มีจำหน่ายทั่วไป หรือจะผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง เมื่อเปรียบเทียบราคา
ปุ๋ยยางพาราหลังเปิดกรีด
  • ทุกเขตปลูกยางใช้ปุ๋ยสูตร 30 – 5 – 18
  • ทั้งเขตปลูกยางเดิมและเขตปลูกยางใหม่ให้ใส่ปุ๋ยครั้งละ 500 กรัม / ต้น ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ต้นฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม หลังจากยางผลัดใบในขณะที่ใบยังเป็นใบเพสลาด และครั้งที่ 2 ใส่ประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ก่อนที่ใบยางจะแก่
วิธีการใส่ปุ๋ยยางพาราหลังเปิดกรีด
  • ในพื้นที่ราบให้หว่านปุ๋ยห่างจากบริเวณโคนต้นยางประมาณ 3 เมตร หรือบริเวณกึ่งกลางระหว่างแถว คราดกลบให้ปุ๋ยอยู่ใต้ผิวดิน
  • ในพื้นที่ลาดเทที่ไม่ต้องทำขั้นบันได หรือท้องที่ที่มีฝนตกชุก ให้ใส่แบบหลุม 4 หลุม รอบต้นแล้วฝังกลบ
  • ในพื้นที่ลาดชันที่ทำขั้นบันได ให้หว่านปุ๋ยลงบนขั้นบันไดตลอดแถวยาง
วิธีการใส่ปุ๋ย
วิธีการใส่ปุ๋ยที่ดีจะต้องเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติ ใส่แล้วพืชสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยมีวิธีการใส่ปุ๋ยดังนี้
  • ใส่รองพื้น - นิยมใช้ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต ซึ่งเป็นปุ๋ยที่เคลื่อนที่ได้ยาก เพราะถูกตรึงด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ในดิน โดยคลุกเคล้าปุ๋ยกับดินแล้วใส่ลงในหลุมก่อนปลูกยาง
     
  • ใส่แบบหว่าน - เป็นการหว่านปุ๋ยให้ทั่วบริเวณที่ใส่ปุ๋ย เหมาะสำหรับใช้กับพื้นที่ที่เป็นที่ราบ และมีการกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมี เพราะเศษซากพืชที่เหลือจะช่วยป้องกันการชะล้างปุ๋ยในช่วงที่มีฝนตก แต่ถ้าเป็นที่ราบที่กำจัดวัชพืชด้วยวิธีถาก ควรคราดให้ปุ๋ยเข้ากับดินด้วย เพื่อป้องกันน้ำฝนชะล้างปุ๋ย
     
  • ใส่แบบเป็นแถบ - เป็นการใส่ปุ๋ยโดยโรยเป็นแถบไปตามแนวแถวต้นยางในร่องที่เซาะไว้ แล้วกลบ วิธีนี้จะใช้กับต้นยางที่มีอายุ 17 เดือนขึ้นไป เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทเล็กน้อย หรือพื้นที่ทำขั้นบันได
     
  • ใส่แบบเป็นหลุม - เป็นการใส่ปุ๋ยโดยการขุดหลุมบริเวณรอบโคนหรือสองข้างของต้นยางประมาณ 2 – 4 หลุมต่อต้น แล้วใส่ปุ๋ยลงในหลุม กลบให้เรียบร้อย เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ลาดเทและไม่ได้ทำขั้นบันได
นอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงเพื่อให้การใส่ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ ควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง หรือฝนตกชุกมากเกินไป และควรกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง ถ้าต้องการให้ต้นยางสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตดี สามารถเปิดกรีดได้เร็ว ให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะต้องมีการใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงก่อนโค่น 3 – 5 ปี โดยปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

บริเวณที่ใส่ปุ๋ย
ระยะแรกหลังจากปลูกยาง รากของต้นยางจะแผ่ออกเป็นวงกลมรอบลำต้น ประมาณปีที่ 4 รากจึงจะแผ่ขยายออกไปจนถึงกึ่งกลางระหว่างแถวยาง และเมื่อต้นยางมีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป รากก็จะแผ่ขยายเพิ่มขึ้นและหนาแน่นอยู่ในบริเวณห่างจากลำต้นประมาณ 60 เซนติเมตร จนถึง 3 เมตร ดังนั้น เพื่อให้การดูดอาหารของต้นยางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรใส่ปุ๋ยบริเวณที่มีรากดูดอาหารหนาแน่น คือ เมื่อต้นยางยังเล็กควรใส่ปุ๋ยเป็นวงกลมรอบลำต้น ส่วนต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 17 เดือนขึ้นไป ให้หว่านปุ๋ยกระจายสม่ำเสมอเป็นแถบยาวไป ห่างจากโคนต้นยางข้างละ 1 เมตร เมื่อยางมีอายุ 5 ปีขึ้นไปให้หว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้าง ห่างจากโคนต้นยางอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และขยายออกไปถึง 3 เมตร สำหรับยางที่เปิดกรีดแล้วให้หว่านปุ๋ยทั่วแปลง ห่างจากโคนต้นยางข้างละ 1 เมตร
ที่มา http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/rubber_tree/12.html