“สถาบันวิจัยยาง 408” พันธุ์ยางใหม่ของสถาบันวิจัยยาง
กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย สถาบันวิจัยยาง
เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราของโลกยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจทำให้ราคายางสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางหนึ่งล้านไร่ไปยังพื้นที่ปลูกยางใหม่ ทำให้พื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 16,889,686 ไร่ กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ โดยมีผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ 278 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี โดยภาคใต้มีพื้นที่ปลูก 11,339,658 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 272 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ภาคตะวันออกรวมภาคกลางมีพื้นที่ปลูก2,103,908 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 282 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูก 2,845,542 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 260 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และภาคเหนือมีพื้นที่ปลูก 600,578 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 251 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยของผลผลิตจากการปลูกยางมีอัตราลดลงจากปี 2547 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ 286 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และผันแปรไปในพื้นที่แต่ละภาค ซึ่งสาเหตุของการลดลงของผลผลิตดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง คือ การขยายพื้นที่ปลูกยางจากแหล่งปลูกยางเดิมที่มีสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตน้ำยาง ไปยังแหล่งปลูกยางใหม่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนต่ำกว่า 1,600 มิลลิเมตรต่อปี มีการกระจายตัวของปริมาณฝนน้อย มีช่วงแล้งยาวนาน 4 – 6 เดือน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้การปลูกยางมีอัตรารอดตายต่ำ การเจริญเติบโตช้า ทำให้เปิดกรีดได้ช้ากว่าพื้นที่ปลูกยางเดิม 1 – 2 ปี และพันธุ์ยางแต่ละพันธุ์จะให้ผลผลิตน้ำยางลดต่ำลงกว่าพื้นที่ปลูกยางเดิมร้อยละ 10 – 20 ตามความสามารถในการปรับตัวของพันธุ์นอกจากนี้แล้ว การปลูกยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ยังประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อมหลายประการ เช่น ต้นยางเสียหายจากแสงแดด การระบาดของโรค – แมลง ที่แตกต่างไปจากเดิม มีจำนวนต้นแสดงอาการเปลือกแห้งมาก และมีจำนวนต้นตายเนื่องจากสภาวะแล้งมากในบางปี
ประการที่สอง คือ แม้ว่าในพื้นที่ปลูกยางเดิม สภาพแวดล้อมโดยส่วนใหญ่จะเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตน้ำยาง แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน พบว่ามีผลอย่างยิ่งต่อการระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงไปดังจะพบได้ว่าในบางปีมีการระบาดของโรคใบร่วงไฟทอฟธอราและราสีชมพู รวมทั้งอาการเปลือกแห้งรุนแรงเพิ่มขึ้น ต้นยางเปิดกรีดได้ช้าลงเนื่องจากเป็นการปลูกยางในพื้นที่ปลูกเดิม และการให้ผลผลิตน้ำยางต่ำกว่าเดิมการใช้พันธุ์ยางที่มีอยู่เดิมมาแนะนำให้เกษตรกรปลูก จะส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตและเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น สถาบันวิจัยยางจึงได้เร่งรัดดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์เพื่อหาพันธุ์ยางใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตน้ำยางและ/หรือเนื้อไม้สูงต้านทานโรค ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้มากขึ้น และมีลักษณะของพันธุ์ยางตรงตามความต้องการของเกษตรกร ให้เกษตรกรมีโอกาสในการเลือกใช้พันธุ์ยางได้มากขึ้น และในปี พ.ศ.2554 สถาบันวิจัยยางได้ออกคำแนะนำพันธุ์ยางฉบับใหม่และแนะนำพันธุ์ยางชั้น 1 พันธุ์ใหม่ “สถาบันวิจัยยาง 408” ให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางใหม่เลือกปลูกได้ตามความต้องการ
การปรับปรุงพันธุ์ยาง “สถาบันวิจัยยาง 408”
วัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง การเจริญเติบโตดี ต้านทานโรคที่สำคัญ เช่น ไฟทอฟธอรา ราแป้ง ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งมีลักษณะอื่นๆ ที่ดี คุณสมบัติของน้ำยางที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมยางดำเนินงานตามแผนปรับปรุงพันธุ์ยางมาตรฐาน (ภาพที่ 1) โดยผสมพันธุ์ยางที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2535 ได้ต้นกล้าลูกผสมจำนวน 2,175 ต้น นำลงปลูกในแปลงคัดเลือกพันธุ์ยางเบื้องต้นในเดือนตุลาคม 2535 เปิดกรีดเมื่อต้นยางอายุ 2 ปี 8 เดือน จากการกรีดทดสอบผลผลิตคัดเลือกได้ต้นกล้าลูกผสมระหว่างพันธุ์ PB 5/51 กับ RRIC 101 ที่ปลูกในลำดับที่ 1396 (RRI-CH-35-1396 เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยยาง 408 ในปี พ.ศ. 2545) โดยมีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตน้ำยางสูงมาก 29.2 กรัมต่อต้นต่อ10 ครั้งกรีด ซึ่งเป็นค่าผลผลิตสูงสุดของทั้งแปลง ให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อทาสารเคมีเร่งน้ำยางหลังผ่านการคัดเลือกในระยะต้นกล้า ได้ตัดกิ่งนำไปขยายพันธุ์และปลูกในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ยางขั้นต้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยยางสุราษฏร์ธานีในปี พ.ศ. 2539 และ 2541 และปลูกในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ยางขั้นปลายที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ศูนย์วิจัยยางหนองคาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรในหลายพื้นที่ในระหว่างปี พ.ศ.2542 - 2550 ซึ่งขณะนี้เปิดกรีดได้ใน2 พื้นที่ คือ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และศูนย์วิจัยยางหนองคาย พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 เริ่มแนะนำพันธุ์ครั้งแรกในคำแนะนำพันธุ์ยางปี 2550 โดยจัดเป็นพันธุ์ยางแนะนำชั้น 2 และจากผลการทดลองในระยะต่อมาในพื้นที่ปลูกยางใหม่พบว่า พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 ยังคงให้ผลผลิตน้ำยางสูง จึงเลื่อนเป็นพันธุ์ยางแนะนำชั้น 1 สำหรับปลูกในพื้นที่ปลูกยางใหม่ในคำแนะนำพันธุ์ยางปี 2554 ส่วนในพื้นที่ปลูกยางเดิมยังอยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพที่ 1 แผนภูมิขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ยาง “สถาบันวิจัยยาง 408”
ลักษณะทางการเกษตรของพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408
ผลผลิตเนื้อยางแห้ง
ผลผลิตกรัมต่อต้นต่อครั้งกรีด พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 ให้ผลผลิตสูงมากตั้งแต่ระยะแรกของการกรีด เช่นเดียวกับพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยระหว่าง 32.7 – 52.0 กรัมต่อต้นต่อครั้งกรีด สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 46 -72 (ตารางที่ 1) แม้ว่าที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 ให้ผลผลิตในปีที่ 2 ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งในระหว่างปีพ.ศ. 2548 - 49 ที่ปริมาณฝนต่ำกว่า 1000 มิลลิเมตรต่อปี
ผลผลิตกิโลกรัมต่อไร่ต่อปี พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อต้นสูง และมีขนาดลำต้นสม่ำเสมอกันดี ทำให้มีจำนวนต้นกรีดมาก ให้ผลผลิตเฉลี่ยระหว่าง 216.6 – 352.4 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 63 – 77
การเจริญเติบโต
ในระยะก่อนเปิดกรีด พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีการเจริญเติบโตดีมาก แม้ว่าในในช่วงเริ่มปลูกมีขนาดลำต้นค่อนข้างจะต่ำกว่าทุกพันธุ์ เนื่องจากความพร้อมของการขยายพันธุ์ในระยะแรก โดยมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นสูงกว่าพันธุ์RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 7 – 10 ดังแสดงในตารางที่ 3
ระยะระหว่างกรีด โดยทั่วไปในระยะที่มีการกรีดยาง การเพิ่มขนาดของลำต้นยางจะน้อยลง เนื่องจากการแบ่งผลิตผลจากกระบวนการสังเคราะห์แสงนำไปใช้ในการสร้างน้ำยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง อัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นจะลดลงอย่างมาก ผลการทดลองนี้ก็เช่นเดียวกัน พบว่าพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงของลำต้นที่เพิ่มขึ้นต่อปีระหว่างกรีดอยู่ในช่วงระหว่าง1.4 - 3.8 ซม. ต่ำกว่าพันธุ์RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 19 – 31
เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นในทุกแปลงทดลองในตารางที่3 พบว่า พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงของลำต้นโตกว่าพันธุ์RRIM600 ร้อยละ 3 กล่าวได้ว่าอยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกับพันธุ์RRIM 600
เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นในทุกแปลงทดลองในตารางที่3 พบว่า พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงของลำต้นโตกว่าพันธุ์RRIM600 ร้อยละ 3 กล่าวได้ว่าอยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกับพันธุ์RRIM 600
ความหนาเปลือกและจำนวนวงท่อน้ำยาง
ความหนาเปลือกและจำนวนวงท่อน้ำยางเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการให้ผลผลิตน้ำยาง จากการวัดความหนาเปลือกและวิเคราะห์จำนวนวงท่อน้ำยาง เมื่อต้นยางอายุ 7 ปี พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีความหนาเปลือก 5.6 ซม. ใกล้เคียงกับพันธุ์BPM 24 ซึ่งจัดว่าเป็นพันธุ์ที่มีเปลือกหนา และมีจำนวนวงท่อน้ำยาง9.1 วง ไม่แตกต่างจากพันธุ์เปรียบเทียบ (ตารางที่ 4)
ค่าวิเคราะห์องค์ประกอบทางชีวเคมีของน้ำยาง
จากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางชีวเคมีของน้ำยาง กล่าวได้ว่าพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 จัดอยู่ในกลุ่มพันธุ์ที่มีขบวนการเมตะบอลิซึมสูง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง มีค่า TSC สูงร้อยละ 42.08 แสดงว่ามีการสังเคราะห์โมเลกุลของยาง(cis-polyisoprene) มาก มีปริมาณ sucrose ซึ่งสารตั้งต้นในการสังเคราะห์น้ำยางต่ำ6.71 มิลลิกรัม เนื่องจากน้ำตาลที่ต้นยางสังเคราะห์ได้ถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์น้ำยางได้เร็ว และมีปริมาณ Pi สูง 18.57 มิลลิกรัม เนื่องจากมีการใช้พลังงานในการสังเคราะห์น้ำยางมากดังนั้น เมื่อกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์น้ำยางเพิ่มมากขึ้นโดยใช้ระบบกรีดที่มีจำนวนวันกรีดมากหรือสารเคมีเร่งน้ำยาง จะทำให้ต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งได้ง่าย ดังนั้น ไม่แนะนำให้ใช้ระบบกรีดที่มีจำนวนวันกรีดมากกับต้นยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง408

การประเมินระดับความต้านทานโรคและความเสียหายเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ
ผลการสำรวจความต้านทานโรคและความเสียหายจากสาเหตุต่าง ๆ พบว่า พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 จัดเป็นพันธุ์ยางที่มีความต้านทานต่อโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอราและใบจุดก้างปลาในระดับดี ต้านทานต่อโรคราแป้ง เส้นดำและราสีชมพูในระดับปานกลาง (ตารางที่ 5)
ความเสียหายเนื่องจากภัยแล้ง เนื่องจากในปีพ.ศ.2548 - 49 ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา มีปริมาณฝนต่ำกว่า 1000 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้มีต้นยางแสดงอาการยืนต้นตายและยอดแห้งจำนวนมาก โดยเฉพาะพันธุ์ยางแนะนำชั้น 1 ของอินเดีย RRII 105 (ภาพที่ 2.1) ส่วนพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 (ภาพที่ 2.2) มีค่าเฉลี่ยจำนวนต้นแสดงอาการยืนต้นตายและยอดแห้งจำนวน 2.7 ต้นต่อไร่ ส่วนพันธุ์เปรียบเทียบ PB 255, BPM 24 และ RRIM 600 มีค่าเฉลี่ยจำนวนต้นแสดงอาการยืนต้นตายและยอดแห้งจำนวน 5.6, 4.2 และ 2.3 ต้นต่อไร่ตามลำดับ
ภาพที่ 2.1ต้นยางที่เสียหายเนื่องจากภาวะแห้งแล้งที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2548 : พันธุ์ยางRRII 105
ภาพที่ 2.1ต้นยางที่เสียหายเนื่องจากภาวะแห้งแล้งที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2548 : พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408
สมบัติทางกายภาพพื้นฐานของยางแผ่นดิบ
ผลการทดสอบสมบัติทางกายภาพพื้นฐานของยางแผ่นดิบของพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 พบว่า มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในการทำอุตสาหกรรมยาง โดยมีค่าต่างๆ ดังนี้
สิ่งสกปรก (Dirt) พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยสิ่งสกปรกร้อยละ 0.026 น้อยกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ สถาบันวิจัยยาง 251, RRIM 600 และ BPM 24
เถ้า (Ash) พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยเถ้าร้อยละ 0.36 น้อยกว่าพันธุ์เปรียบเทียบสถาบันวิจัยยาง 251, RRIM 600 และ BPM 24
สิ่งระเหย (Volatile Matter Content ; VM) พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยสิ่งระเหยร้อยละ 0.58 อยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากำหนดของมาตรฐานยางไทย
ไนโตรเจน (Nitrogen) พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าเฉลี่ยปริมาณไนโตรเจนร้อยละ 0.23 อยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากำหนดของมาตรฐานยาง
ดัชนีความอ่อนตัว (Plasticity Retention Index, PRI) พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าดัชนีความอ่อนตัว 64.6 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีเช่นเดียวกับพันธุ์เปรียบเทียบทุกพันธุ์
ความหนืด (Mooney Viscosity, VR) พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าดัชนีความอ่อนตัว 76.0 ต่ำกว่าพันธุ์เปรียบเทียบทุกพันธุ์
สี พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 มีค่าสีของยางแผ่นดิบ (Lovibond) เท่ากับ11.1 ทำให้ยางแผ่นมีสีค่อนข้างคล้ำกว่าพันธุ์เปรียบเทียบทุกพันธุ์
ลักษณะประจำพันธุ์ของพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408
รายละเอียดเกี่ยวกับรูปทรงลำต้น และการแตกกิ่งของพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 แสดงไว้ในภาพที่ 3 ส่วนลักษณะใบ ฉัตรใบ เมล็ด และสีเนื้อยางแห้ง แสดงไว้ในภาพ
ภาพที่ 3 รูปทรงลำต้นและการแดกกิ่งของพันธุ์ยาง สถาบันวิจัยยาง 408
ลักษณะฉัตรใบ
สรุป
ผลจากการทดลองดังกล่าวข้างต้นนำมาสรุปลักษณะเด่นและข้อจำกัดทางการเกษตรของพันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 ได้ดังนี้
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตเนื้อยางแห้งสูงมาก โดยในพื้นที่ปลูกยางใหม่มีค่าเฉลี่ย 8 ปี 329.6 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มากกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ RRIM 600 ที่ให้ผลผลิต 235.1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 53
2. การเจริญเติบโตระยะก่อนเปิดกรีดดี ทำให้เปิดกรีดได้เร็ว โดยมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นสูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 7 - 10 และมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นที่เพิ่มแต่ละปีระหว่าง 6.0 - 8.2 สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 8 – 15
3. มีขนาดลำต้นสม่ำเสมอกันดี ทำให้มีจำนวนต้นยางที่สามารถเปิดกรีดได้มาก
4. มีเปลือกหนา จำนวนวงท่อน้ำยางมาก
5. รูปทรงลำต้นตรง ลักษณะกลม การแตกกิ่งสมดุลในระดับสูง ทำให้มีสามารถแนะนำให้ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินสูง
6. ต้านทานต่อโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอราและใบจุดก้างปลาในระดับดี ต้านทานต่อโรคราแป้ง เส้นดำและราสีชมพูในระดับปานกลาง มีจำนวนต้นเสียหายจากภาวะแล้งน้อย
ข้อจำกัด ไม่เหมาะสมกับระบบกรีดที่มีจำนวนวันกรีดมากเพราะต้นยางจะเกิดอาการเปลือกแห้งได้ง่าย
ลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกของยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 408 (RRIT 408)
ศุภมิตร ลิมปิชัย ศูนย์วิจัยยางสงขลา สถาบันวิจัยยาง
การจำแนกพันธุ์ยางโดยสายตา เป็นวิธีการที่ทำได้สะดวกรวดเร็ว สามารถนำไปปฏิบัติในแปลงได้อย่างกว้างขวาง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แรงงาน และวัสดุอุปกรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ในการจำแนกพันธุ์ยางที่ได้ผลถูกต้องแม่นยำ ต้องอาศัยการเรียนรู้ และฝึกทักษะอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ สำหรับแนวทางการจำแนกพันธุ์ยางโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงยางอ่อนยังไม่แตกกิ่ง ต้นยางที่อยู่ในระยะนี้ได้แก่ ต้นยางชำถุง ต้นกิ่งตายาง และต้นยางอายุ 1-2 ปี ลักษณะต่างๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณามีดังนี้
ฉัตรใบ : พิจารณาฉัตรใบแก่ที่ 1-2 นับจากยอดซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์และคงที่
ใบ : พิจารณาใบแก่ในฉัตรที่ 2 นับจากยอดลงมาซึ่งมีสภาพสมบูรณ์และใบแก่เต็มที่
ก้านใบ : พิจารณารูปร่างและฐานก้านใบ ลักษณะของฐาน และทิศทางของก้านใบที่ทำกับลำต้น
ก้านใบย่อย : พิจารณาการแผ่ การทำมุมและความยาวของก้านใบย่อย
เปลือก : พิจารณาลักษณะของเปลือก ทั้งส่วนสีเขียวและส่วนสีน้ำตาล
ตา : ตามี 2 ประเภท คือ ตาก้านใบ หมายถึงตาที่อยู่เหนือฐานก้านใบ และตาคิ้ว หมายถึงตาที่อยู่บนเปลือก
สีน้ำยางสด : จำแนกออกเป็นสีขาว สีเหลืองอ่อนและสีเหลือง
ช่วงยางใหญ่ ช่วงที่ต้นยางอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป มีความสูงจนไม่อาจพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยเหมือนช่วงยางอ่อน ลักษณะต่างๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณามีดังนี้
ลำต้น : พิจารณารูปร่างและลักษณะผิวเปลือกของลำต้น
ทรงพุ่ม : พิจารณารูปทรง ระดับความสูง และความหนาแน่น
การแตกกิ่ง : พิจารณาการแตกกิ่งหลักที่แตกจากลำต้น กิ่งรอง และกิ่งแขนง
เมล็ด : พิจารณาขนาด รูปร่าง ลักษณะส่วนหลังและอก ความหนา และสี-ลวดลาย
ลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกของยางพันธุ์ สถาบันวิจัยยาง 408
เนื่องจากยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 408 หรือ RRIT 408 เป็นยางพันธุ์ลูกผสมระหว่าง PB 5/51 กับ RRIC 101 จึงมักปรากฏลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกบางอย่างคล้ายไปทางพ่อพันธุ์ หรือแม่พันธุ์ โดยสามารถแยกแยะลักษณะเป็นส่วนๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจำแนกได้ดังนี้
ช่วงยางอ่อนยังไม่แตกกิ่ง
ฉัตรใบ มีทรงฉัตรขนาดปานกลาง รูปครึ่งวงกลมมีลักษณะโปร่ง และระยะระหว่างฉัตรห่าง (ภาพที่ 1)
ใบ รูปร่างใบกลางป้อมค่อนมาทางปลายใบสีเขียวอมเหลือง ผิวใบเป็นมัน ฐานใบสอบเรียว ปลายใบเป็นติ่งแหลม คล้าย RRIM 600 (ภาพที่ 2) เส้นกลางใบเด่นชัดสีเหลืองอมเขียว แผ่นใบขรุขระ ใบตัดตามขวางตรงและตัดตามยาวตรง ขอบใบเรียบตำแหน่งขอบใบย่อยสัมผัสกัน และใบย่อยอยู่แนวระดับเดียวกัน
ภาพที่ 1 ฉัตรรูปครึ่งวงกลม
ภาพที่ 2 รูปทรงใบ ป้อมปลายใบ
ก้านใบย่อยก้านใบย่อยยาวปานกลาง ลักษณะการแผ่อยู่ในแนวเดียวกัน และการทำมุมระหว่างก้านใบย่อยกว้าง ลักษณะนี้คล้ายไปทาง PB 5/51 (ภาพที่ 2)
ตา ลักษณะตาก้านใบนูนน้อย ตั้งชิดฐานก้านใบส่วนตาคิ้วนูนและคิ้วโค้งสมดุล
สีน้ำยางสด สีเหลืองอ่อน
ช่วงยางใหญ่
ลำต้น รูปร่างตรง เหมือนกระโดงเรือ ผิวเปลือกหยาบ (ภาพที่ 3)
ทรงพุ่ม ขนาดใหญ่ ลักษณะทรงกรวย มีความหนาแน่นปานกลาง (ภาพที่ 3)
การแตกกิ่ง แตกกิ่งหลักน้อย จำนวน 1-3 กิ่งและทำมุมกว้างกับลำต้น แตกกิ่งรองและกิ่งแขนงมากและลักษณะการแตกกิ่งสมดุล มีการทิ้งกิ่งล่างๆ เรื่อยๆ เห็นเป็นปุ่มปม ลักษณะนี้คล้ายลักษณะประจำพันธุ์ของ PB 5/51 ที่เป็นแม่พันธุ์ (ภาพที่ 3)
เมล็ด มีขนาดปานกลาง รูปร่างทรงรี ผิวเปลือกสีน้ำตาล มีลายเป็นปื้น และตำแหน่งรูงอกราก (Micropyle) อยู่ใกล้อก ซึ่งคล้ายลักษณะประจำพันธุ์ของ PB 5/51 ที่เป็นแม่พันธุ์ เช่นกัน (ภาพที่ 4) และด้านหลังเมล็ดยังปรากฏสันเล็กน้อยคล้าย PB 5/51 อีกด้วย
ลักษณะเฉพาะพันธุ์ ต้นยางใหญ่ บริเวณลำต้นมีตามาก และมีปุ่มปมที่เกิดจากการทิ้งกิ่ง
ลักษณะเฉพาะพันธุ์ ต้นยางใหญ่ บริเวณลำต้นมีตามาก และมีปุ่มปมที่เกิดจากการทิ้งกิ่ง
ภาพที่ 3 ลักษณะทรงพุ่ม และการแตกกิ่งของยางพันธุ์ สถาบันวิจัยยาง 408
เปรียบเทียบลักษณะใบกับพันธุ์ยางอื่นๆ
ภาพที่ 4 รูปทรงเมล็ด
เนื่องจากลักษณะของใบเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการจำแนกพันธุ์ยางระยะต้นยางอ่อนยังไม่แตกกิ่ง ดังนั้น จึงนำลักษณะใบของพันธุ์ยางชั้นหนึ่ง 5 พันธุ์ ได้แก่ RRIT 408, RRIT 251, RRIT 226, BPM 24 และ RRIM 600 มาเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆถึงความแตกต่าง เพื่อง่ายต่อการจำแนกพันธุ์ยาง (ภาพที่ 5) ดังนี้
ภาพที่ 5ลักษณะใบของยางพันธุ์ RRIT 408 (ก), RRIT 251 (ข), RRIT 226 (ค), BPM 24 (ง) และ RRIM 600
RRIT 408 : ใบกลางป้อมปลายใบ ฐานใบสอบเรียว ปลายใบติ่งแหลม แผ่นใบขรุขระ ใบตัดตามขวางตรง และขอบใบเรียบ (ภาพที่ 5 ก)
RRIT 251 : ใบกลางป้อมปลายใบ ฐานใบรูปลิ่มปลายใบติ่งแหลม แผ่นใบขรุขระ ใบตัดตาขวางเว้า/ท้องเรือ และขอบใบเป็นคลื่นหยาบ (ภาพที่ 5ข)
RRIT 226 : ใบกลางป้อมปลายใบ ฐานใบรูปลิ่มปลายใบติ่งแหลม แผ่นใบขรุขระ ใบตัดตามขวางตรงและขอบใบเรียบ (ภาพที่ 5ค)
BPM 24 : ใบกลางป้อมกลางใบ ฐานใบสอบเรียว ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบขรุขระ ใบตัดตามขวางตรง และขอบใบเรียบ (ภาพที่ 5ง)
RRIM 600 : ใบกลางป้อมปลายใบ ฐานใบสอบเรียว ปลายใบติ่งแหลม แผ่นใบเรียบ ใบตัดตามขวางตรง และขอบใบเรียบ (ภาพที่ 5จ)
สรุป
การจำแนกลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกของยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 408 (RRIT 408) ให้ถูกต้องตรงตามพันธุ์นั้น ต้องพิจารณาลักษณะหรือองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ทั้งใบ ฉัตร ทรงพุ่ม เมล็ด น้ำยาง เป็นต้น ประกอบกัน โดยต้องอาศัยความชำนาญด้วย เห็นได้ชัดว่าในพันธุ์ลูกผสมนั้น จะมีลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกบางอย่างเหมือนหรือคล้ายไปทางต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งอาจมากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับพันธุ์ยาง ดังนั้น การได้รู้ลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกของต้นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ด้วย ก็จะยิ่งทำให้การจำแนกลักษณะได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น